จากข้อมูลสถิติการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการปี 2566 พบว่าหน่วยงานภาครัฐมีการจ้างงานคนพิการเพียงร้อยละ 18.73 เท่านั้น ในขณะที่สถานประกอบการภาคเอกชนที่ต้องเข้าเกณฑ์การจ้างงานคนพิการตามที่กฎหมายกำหนด (มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป) ที่เลือกใช้วิธีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ภายใต้มาตรา 34 แทนการจ้างงานคนพิการ
ตรงนี้จึงเป็นที่มาของโครงการการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ และแนวทางในการทำงานของโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการของ มจธ.ให้กับมหาวิทยาลัยเครือข่ายนำร่อง 5 แห่ง
ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เพื่อให้มหาวิทยาลัยเครือข่ายนำร่องแต่ละแห่งพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพคนพิการ เพื่อการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของตนเอง
โดยปีแรกของโครงการ (1 เมษายน 2567-31 มีนาคม 2568) ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มาตรา 34 เป็นเงินกว่า 23,000,000 บาท สำหรับจัดอบรมและฝึกงานคนพิการรุ่นที่ 1 รวมทั้งสิ้น 300 คน
“รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย” อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า เป้าหมายการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาคือการ Upskill-Reskill เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมในการทำงาน และมีรายได้เลี้ยงตนเองอย่างยั่งยืนของคนพิการ ประกอบกับโครงการนี้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์และเป้าหมายของกองทุน และ พม. ซึ่งมีความตั้งใจให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างหรือพนักงานมากกว่า 100 คน จ้างคนพิการเข้าไปทำงานตามมาตรา 33 มากขึ้น และได้คนพิการที่ทำงานได้จริง และมีศักยภาพในการลดช่องว่างของสังคม โดยเฉพาะคนพิการที่ไม่มีงานทำ จากที่สถานประกอบการไม่กล้าจ้าง เพราะกลัวว่าคนพิการจะทำงานไม่ได้ ทางปลัดกระทรวง พม.จึงเสนอแนะให้ มจธ.และเครือข่ายเขียนข้อเสนอโครงการไปขอทุนสนับสนุนจากกองทุน จึงเกิดเป็นโครงการนำร่องนี้ขึ้น”
“ดร.อรกัญญาณี เลี้ยงอิสสระ” ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มจธ. และในฐานะหัวหน้าโครงการกล่าวเสริมว่า โดยบทบาทของ มจธ. ในฐานะมหาวิทยาลัยเจ้าภาพหรือแม่ข่าย จะทำหน้าที่ Train the Trainer และ Facilitator (อาจารย์เกื้อหนุน)รวมทั้งช่วยแนะนำวิธีการ กรอบการทำงาน ตลอดจนสร้างความเข้าใจร่วมกัน และแนวทางหรือสิ่งที่จะต้องทำในโครงการ ที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 5 แห่งสามารถดำเนินการลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
“โครงการนี้จะทำให้เกิดการฝึกอบรม-ฝึกอาชีพตามความต้องการในแต่ละพื้นที่ (Demand-Driven) ให้คนพิการมีสมรรถนะทำงานได้จริงตามที่สถานประกอบการต้องการ โดยอนาคตอาจใช้มาตรา 35 ในการดำเนินการอย่างยั่งยืน”
สำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายในโครงการคือ การนำสิ่งที่ มจธ.วางแผน และเคยดำเนินการประสบความสำเร็จมาแล้วตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมามาเป็นแม่แบบ โดยกระบวนการหรือขั้นตอนการทำงานแบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย
หนึ่ง หารือร่วมกับสถานประกอบการที่สนับสนุนโครงการ เพื่อหาอาชีพ และพัฒนาหลักสูตรการฝึกคนพิการให้สามารถทำงานได้ หรือเป็นอาชีพใหม่ที่ดำเนินการฝึกอบรมให้คนพิการไม่มากนัก
สอง รับสมัครและคัดเลือกคนพิการเข้าร่วมโครงการ ตามคุณสมบัติของแต่ละหลักสูตร รวมทั้งพิจารณาถึงความต้องการ และมีแรงจูงใจที่ต้องการทำงาน หรือประกอบอาชีพ
สาม กระบวนการฝึกอบรม-ฝึกงานรวม 6 เดือน โดยครอบคลุมทักษะทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านอาชีพ ทักษะด้านการสนับสนุนการทำงานและการใช้ชีวิต รวมถึงทักษะการฝึกประสบการณ์ทำงานตรง
สี่ สนับสนุนการจ้างงานคนพิการร่วมกับภาคี ทั้งสถานประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนการจ้างงานคนพิการ
ห้า ระบบพี่เลี้ยงติดตาม และให้คำแนะนำ
หก การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ผลกระทบ และผลตอบแทนจากการลงทุน โดยจะเริ่มเปิดรับสมัครคนพิการเข้าร่วมโครงการระหว่างวันที่ 9-31 พ.ค. 67 ในมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 5 แห่ง โดยจะเริ่มดำเนินการอบรมและฝึกอาชีพให้กับคนพิการระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ย. 67 พร้อมช่วยส่งเสริมการหางาน และติดตามผลโครงการตั้งแต่เดือน ต.ค. 2567 เป็นต้นไป
“ผมคาดหวังว่าโครงการขยายผลอุดมศึกษา จะทำให้มีคนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมเข้าสู่สถานประกอบการมากขึ้น หรือคนพิการที่ไม่สะดวกในการไปทำงานกับสถานประกอบการ สามารถทำอาชีพอิสระที่บ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบสิ่งพิมพ์ดิจิทัล หรืองานฝีมือ และหากรุ่นที่ 1 ผลลัพธ์ออกมาดี เชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนขยายผลเพิ่มขึ้น และทำอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น โครงการนี้ช่วยสังคมไทยได้มาก ทั้งเรื่องของคุณภาพชีวิตคนพิการ ลดช่องว่าง และลดภาระของภาครัฐ ขณะเดียวกัน คนพิการเองจะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง และสามารถดำรงชีพได้อย่างภาคภูมิ ที่สำคัญยังตอบโจทย์ SDGs ของประเทศอีกด้วย”…
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/sd-plus/sdplus-sustainability/news-1566238