การเตรียมเอกสารให้ถูกต้องครบถ้วนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ประสงค์จะขอบัตรประจำตัวคนพิการ เพราะหากเอกสารไม่พร้อมหรือมีข้อผิดพลาด อาจทำให้เสียเวลาต้องเดินทางไปยื่นเรื่องซ้ำอีกหลายรอบ ซึ่งเป็นความลำบากโดยใช่เหตุ ดังนั้น ควรศึกษาให้แน่ใจก่อนว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง จัดเตรียมให้พร้อม เพื่อให้การขอบัตรประจำตัวคนพิการเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว ไม่เสียเวลาเปล่า
ผู้มีสิทธิยื่นขอบัตรประจำตัวคนพิการ
บุคคลที่มีความบกพร่องหรือความผิดปกติทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา หรือพฤติกรรม ซึ่งเข้าข่ายเป็นคนพิการตามที่กฎหมายกำหนด มีสิทธิยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการได้ ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสิทธิประโยชน์บัตรคนพิการที่พึงได้รับอย่างเท่าเทียม
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิขอบัตรประจำตัวคนพิการ
ผู้ที่มีสิทธิยื่นขอบัตรประจำตัวคนพิการ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- เป็นบุคคลสัญชาติไทย
- มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยตามทะเบียนราษฎร
- มีความบกพร่องหรือข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นใด
ประเภทความพิการและเงื่อนไข
กฎหมายแบ่งประเภทความพิการของผู้ที่จะขอบัตรประจำตัวคนพิการ ออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่
- ความพิการทางการเห็น
- ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย
- ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย
- ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม
- ความพิการทางสติปัญญา
- ความพิการทางการเรียนรู้
- ความพิการทางออทิสติก
เงื่อนไขความพิการในแต่ละประเภทจะมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันไป ซึ่งแพทย์ผู้ตรวจจะเป็นผู้วินิจฉัยให้การรับรองความพิการ เพื่อนำมาใช้ประกอบในการขอบัตรประจำตัวคนพิการ
ขั้นตอนการขอบัตรประจำตัวคนพิการ
ผู้มีสิทธิ ต้องยื่นคำขอมีบัตรหรือต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการด้วยตนเองที่ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพฯ หรือศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัด ในกรณีที่ไม่สามารถมายื่นคำขอได้ด้วยตัวเอง สามารถมอบอำนาจให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลคนพิการไปดำเนินการแทนได้ โดยเตรียมเอกสารต่างๆ ให้ครบถ้วน และชำระค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด
เอกสารและหลักฐานที่ใช้ในการขอบัตรประจำตัวคนพิการ
เมื่อไปยื่นขอมีบัตรหรือต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการ ต้องเตรียมเอกสารหลักฐานให้พร้อม ดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ทะเบียนบ้าน
- รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 2 รูป (กรณีที่คนพิการไม่มาด้วยตนเอง)
- เอกสารรับรองความพิการที่ออกโดยสถานพยาบาลของรัฐ หรือเอกชนที่ได้รับอนุญาต
- หลักฐานของผู้ดูแล เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีผู้ดูแลคนพิการไม่ได้ยื่นคำขอเอง)
ซึ่งรวมแล้วเป็นชุดเอกสารมาตรฐานที่ใช้ในการขอบัตรประจำตัวคนพิการ เพื่อแสดงตัวตน บ้านเลขที่ ความพิการ และผู้ดูแล
การยื่นคำขอในกรณีต่าง ๆ
การยื่นขอมีบัตรประจำตัวคนพิการนั้น มีขั้นตอนและเอกสารแตกต่างกันตามสถานการณ์ เช่น
- กรณีมีสภาพความพิการเป็นที่ประจักษ์ เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอจะถ่ายภาพความพิการไว้เป็นหลักฐาน
- กรณีคนพิการมิได้มาแจ้งด้วยตนเอง ต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้ดูแลคนพิการจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือข้าราชการ เป็นต้น
- กรณียื่นคำขอแทนผู้พิการ ต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากผู้พิการ หรือเป็นผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาล
- กรณีบัตรประจำตัวคนพิการใกล้หมดอายุ ต้องมายื่นคำขอมีบัตรใหม่ภายใน 30 วัน ก่อนบัตรหมดอายุ
ซึ่งจะช่วยให้การขอบัตรประจำตัวคนพิการหรือต่อบัตรประชาชนคนพิการในแต่ละกรณีเป็นไปอย่างรวดเร็วและถูกต้องตามระเบียบ
การตรวจสอบสิทธิและต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการ
คนพิการและผู้ดูแลสามารถตรวจสอบสิทธิในบัตรประจำตัวคนพิการและสถานะการมีบัตร ผ่านระบบออนไลน์ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยกรอกข้อมูลหมายเลขบัตรประชาชนและวันเดือนปีเกิดเพื่อเข้าดูข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้คนพิการหรือผู้ดูแลสามารถตรวจสอบสิทธิบัตรคนพิการและตรวจสอบสิทธิผู้พิการได้สะดวกยิ่งขึ้น
ส่วนการต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการเมื่อใกล้หมดอายุ ต้องเตรียมเอกสารเหมือนการทำบัตรครั้งแรก และยื่นต่อที่ศูนย์บริการคนพิการประจำท้องที่
สิทธิคนพิการและสวัสดิการสำคัญสำหรับผู้มีบัตรประจำตัวคนพิการ
การมีบัตรประจำตัวคนพิการเปรียบเสมือนบัตรเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ มากมาย ที่ทางภาครัฐจัดให้เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนพิการ โดยครอบคลุมหลายด้าน ทั้งการแพทย์ การศึกษา อาชีพ การคมนาคม และการดำรงชีวิตโดยทั่วไป ซึ่งสิทธิประโยชน์บัตรคนพิการที่สำคัญ มีดังนี้
สิทธิด้านการได้รับเบี้ยคนพิการ
คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยความพิการเป็นรายเดือน ปัจจุบันรับเดือนละ 800 บาท โดยจ่ายเข้าบัญชีให้โดยตรง เพื่อนำไปใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน หากคนพิการมีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป สามารถรับได้ทั้งเบี้ยความพิการและเบี้ยผู้สูงอายุ
สิทธิในการเข้าถึงการศึกษาและการทำงาน
ผู้พิการมีสิทธิได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาตรี ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ และอาจขอรับเงินอุดหนุนการศึกษาตามความจำเป็น เช่น ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าพาหนะ เป็นต้น
ในด้านการทำงาน กฎหมายกำหนดให้คนพิการมีโอกาสได้งานทำในตำแหน่งที่เหมาะสมกับความสามารถและความพร้อม โดยสถานประกอบการต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นให้ และมีมาตรการจูงใจ เช่น การลดหย่อนภาษี ให้แก่บริษัทเอกชนที่จ้างงานคนพิการ
สิทธิในการรักษาพยาบาล สุขภาพ และอุปกรณ์ช่วยเหลือ
การรักษาพยาบาลสำหรับคนพิการเป็นไปตามสิทธิการรักษาพื้นฐานที่แต่ละคนมี เช่น บัตรทอง ประกันสังคม หรือประกันสุขภาพถ้วนหน้า นอกจากนี้ ยังมีสิทธิได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์ กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด เพื่อลดความพิการและเสริมความสามารถ
คนพิการยังมีสิทธิได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการตามที่แพทย์สั่ง เช่น รถเข็น ไม้เท้า แขนขาเทียม เป็นต้น รวมถึงได้รับการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาเทียมในผู้ป่วยต้อกระจก โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สิทธิด้านการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสาธารณะ
คนพิการมีสิทธิในการเข้าถึงอาคารสถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่งสาธารณะ ตลอดจนบริการข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารต่าง ๆ โดยหน่วยงานรัฐต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นให้ เช่น ทางลาด ห้องน้ำ ป้ายสัญลักษณ์ ที่จอดรถ บริการล่ามภาษามือ เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตให้ใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด
สิทธิประโยชน์ของผู้ดูแลคนพิการ
นอกจากสิทธิสวัสดิการที่คนพิการพึงได้รับแล้ว ผู้ดูแลคนพิการเองก็มีสิทธิประโยชน์บางประการเช่นกัน โดยเฉพาะในแง่ของการลดหย่อนภาษี เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระและชดเชยค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ
การลดหย่อนภาษีเงินได้ในการอุปการะคนพิการ
ผู้ดูแลคนพิการที่มีเงินได้ สามารถหักลดหย่อนภาษีค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ ดังนี้
- หักค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา มารดา บุตร ของผู้มีเงินได้ หรือของสามี/ภรรยา ได้คนละ 60,000 บาท/ปี
- หักค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการอื่น (ที่ไม่มีความสัมพันธ์) ได้อีก 1 คน เป็นเงิน 60,000 บาท/ปี
ทั้งนี้ คนพิการต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ มีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ไม่นับรวมเงินบริจาค เงินสงเคราะห์ และเงินอุดหนุน และต้องมีชื่อผู้ดูแลคนพิการปรากฏในบัตรประจำตัวคนพิการด้วย
การเป็นผู้ดูแลคนพิการ เอกสารและหลักฐานที่ต้องใช้
ผู้ที่ประสงค์จะเป็นผู้ดูแลผู้พิการ ต้องแสดงความจำนงในแบบคำร้องขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ พร้อมแนบหลักฐานดังนี้
- สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้ดูแลคนพิการ
- หนังสือรับรองผู้ดูแลคนพิการ กรณีไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับคนพิการ
- หนังสือมอบอำนาจ ในกรณีที่คนพิการมอบให้ผู้ดูแลยื่นขอแทน
ผู้ดูแลจะมีชื่อระบุในบัตรประจำตัวคนพิการ เพื่อแสดงสิทธิในการอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งจะถูกตรวจสอบ ณ วันที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปีเพื่อขอลดหย่อน
สถานที่ให้บริการยื่นขอและต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการ
เมื่อคนพิการต้องการยื่นคำขอทำบัตรประจำตัวคนพิการ หรือต้องการต่ออายุบัตรที่หมดอายุลง สิ่งแรกที่ต้องรู้คือต้องไปติดต่อที่ใด เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ไม่เสียเวลาเดินทางผิดที่ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้กำหนดสถานที่ให้บริการไว้หลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ดังนี้
ศูนย์บริการคนพิการแต่ละจังหวัด รพ. และ อปท.
การขอมีบัตรประจำตัวคนพิการหรือต่อบัตรประชาชนคนพิการ สามารถติดต่อได้ที่
- ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพฯ และศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทุกจังหวัด
- โรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง ที่มีบริการออกเอกสารรับรองความพิการ
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ที่มีหน่วยรับยื่นคำขอบัตรผู้พิการ
ผู้สนใจสามารถสอบถามสถานที่และเวลาให้บริการได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐสายด่วน 1111 กด 81 กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
สรุป
บัตรประจำตัวคนพิการเป็นบัตรสำคัญที่จะช่วยให้คนพิการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ การศึกษา การทำงาน ที่อยู่อาศัย ตลอดจนการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการส่งเสริมโอกาสและคุณภาพชีวิตให้ผู้พิการ สามารถพึ่งพาตนเอง และดำรงชีวิตร่วมในสังคมได้อย่างเท่าเทียม การทำความเข้าใจกระบวนการขอบัตรประจำตัวคนพิการอย่างถูกต้อง จะทำให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ไม่เสียเวลา เสียสิทธิ เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้พิการเองและผู้ดูแลคนพิการ
สมาคมคนพิการ ภาคตะวันออก พร้อมให้คำแนะนำและบริการด้านขั้นตอน เอกสารในการขอมีบัตรหรือต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการ รวมถึงข้อมูลสิทธิประโยชน์บัตรคนพิการที่พึงได้รับ หากท่านมีข้อสงสัย ต้องการความช่วยเหลือ ติดต่อเราได้ที่ 081-669-1111 สามคมยินดีให้บริการทุกท่าน เพื่อให้คนพิการทุกคนได้รับสิทธิคนพิการอย่างเต็มที่ตามที่กฎหมายกำหนด
คำถามที่พบบ่อย
ทําบัตรคนพิการ 2568 ใช้อะไรบ้าง ?
การขอบัตรประจำตัวคนพิการ ต้องเตรียมเอกสารดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ทะเบียนบ้าน
- รูปถ่าย 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป
- ใบรับรองแพทย์
- เอกสารของผู้ดูแลคนพิการ (ถ้ามี) เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน
- หนังสือมอบอำนาจ (หากให้ผู้อื่นยื่นแทน)
ผู้พิการ 7 ประเภทมีอะไรบ้าง ?
ประเภทความพิการ 7 ประเภท ได้แก่
- พิการทางการเห็น
- พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย
- พิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย
- พิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม
- พิการทางสติปัญญา
- พิการทางการเรียนรู้
- พิการทางออทิสติก
เอกสารรับรองความพิการของผู้พิการ ทําที่ไหน ?
ทำได้ที่สถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง และสถานพยาบาลเอกชนที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประกาศกำหนด โดยจะต้องให้แพทย์ตรวจประเมินและให้การรับรองความพิการ